วันพุธที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2556


        เป็นเรื่องน่าแปลกใจสำหรับผมที่ชอบเป็นนักสังเกตสังคมว่า จู่ๆ ก็เหมือนคนในสังคม โดยเฉพาะที่เรียกขานกันว่า “คนรุ่นใหม่” นั้นกำลังนิยมวัฒนธรรม “ชิลล์ ชิลล์” มากขึ้นเรื่อยๆ และดูเหมือนว่าไม่มีทีท่าจะหยุดง่ายๆ ที่สำคัญยังดู “เท่” ด้วย
        
        ถ้าจะให้ผมแปลคำว่า “ชิลล์ ชิลล์” ให้ตรงความหมายนั้นก็คงเป็นอะไรที่อธิบายได้ประมาณว่า อาการที่เราสบายๆ ไม่คิดมาก เอาน่า อย่าซีเรียส เรื่อยๆ เปื่อยๆ ทอดหุ่ย ทอดน่อง เฉยๆ สบายมาก อะไรทำนองนี้ ซึ่งผมว่าตรงกับนิสัยของคนไทยแบบสุดๆ เพราะเราคือชนชาติแห่งความไม่คิดมาก เหมือนที่มีคนล้ออยู่บ่อยๆ ว่า คำขวัญประจำชาติไทยก็คือ “ทำอะไรตามใจคือไทยแท้”

        แต่เอาเข้าจริงแล้ว ผมเองก็ไม่แน่ใจว่าวัฒนธรรมชิลล์ชิลล์แบบนี้จะเป็นก็แต่พี่ไทยหรือเปล่า เพราะดูเหมือนว่าวัยรุ่นยุคใหม่จะเป็นกันทั้งโลก เห็นได้ชัดจากวัฒนธรรมดนตรีที่แพร่หลายไปทั่วโลกอย่าง ชิลล์เอาท์ (Chill Out)

คำว่า “ชิลล์” มันเริ่มมาตั้งแต่เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วที่ดนตรีในแนวชิลล์เอาท์ได้รับความนิยมมาก (ดนตรีชิลล์เอาท์ก็คือดนตรีดนตรีบรรเลงหรือร้องน้อยๆ อารมณ์เพลงอยู่ในบรรยากาศล่องลอย เล่นโน้ตซ้ำไปซ้ำมา ให้อารมณ์ผ่อนคลายหรือดิ่งลึกในภวังค์) ถึงขนาดว่าแผงซีดีเถื่อนริมทางเท้าที่ถนนข้าวสารและสีลมมีซี่รี่ส์เพลงชิลล์เอาท์ออกมานับสิบๆ ชุด

ข้ามเวลามาอีกหลายปี พ่อหนุ่มนักโต้คลื่นนักดนตรีอย่าง Jack Johnson ก็มาทำให้วัฒนธรรมสบายๆ แบบไม่คิดมากโด่งดังระดับโลก วัยรุ่นทั้งโลกอยากจะมีวิถีชีวิตแบบเขาที่อยู่ริมทะเล เล่นกระดานโต้คลื่นทั้งวัน ว่างๆ ก็เล่นดนตรี ทำหนัง เขามีเพลงที่ชื่อ Banana Pancakes เนื้อหาพูดถึงชีวิตของหนุ่มที่บอกกับสาวเจ้าว่าเช้าๆ แบบนี้ฝนข้างนอกก็ตก เราอย่าออกไปไหนเลย ไม่ต้องรีบต้องร้อน นอนสบายๆ แบบนี้ดีกว่า โทรศัพท์ดังก็ไม่ต้องรับ

มาถึงปัจจุบัน เรามีอีกหนึ่งหนุ่มที่มาสนับสนุนความชิลล์ เขาคือ Bruno Mars ที่คราวนี้ถึงกับมีเพลงที่ชื่อว่า The Lazy Song เนื้อหานั้นพูดถึงชายหนุ่มที่บอกว่าวันนี้ไม่อยากทำอะไรเลย อยากจะนอนๆๆๆ ทั้งวัน ใครโทรมาก็ให้ฝากข้อความไว้

นั่นคือเรื่องของเพลง แต่เรื่องจริง ผมเองก็เคยได้ยินมามากกว่าหนึ่งครั้งว่า มีหลายๆ บ้านที่มีสมาชิกในครอบครัวประเภทที่ว่าไม่ทำอะไรเลย งานการไม่ทำ ไม่ออกไปไหน วันๆ ดูแต่ทีวี ก็นับเป็นเรื่องประหลาดใจสำหรับผม

คนรุ่นเก่ากว่าผมอาจจะประหลาดใจกว่าผม ในฐานะที่เขาก็อาจคิดได้ว่าคนรุ่นเขานั้นทั้งหนักและเหนื่อยกว่ากันเยอะกว่าจะสร้างฐานะมาได้ ไหนจะเครื่องไม้เครื่องมืออำนวยความสะดวกหรือก็สู้ยุคนี้ไม่ได้ ไม่มีโทรศัพท์มือถือ ไม่มีรถไฟฟ้า ไม่มีอินเตอร์เน็ต 
แล้วทำไมคนรุ่นนี้กลับบ่นว่าขี้เกียจ บอกว่าชิลล์ ชิลล์ ไม่เอาน่าอย่าคิดมาก อย่าจริงจังกับชีวิตให้มากนัก เดี๋ยวแก่เร็ว

หรือเป็นเพราะเราสบายมากไป หรือเป็นเพราะเราไม่ได้เหนื่อยกาย แต่เหนื่อยใจ หรือเป็นเพราะมีการแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นมากขึ้น คนเลยอยากจะพักผ่อนมากขึ้น จนเรียกว่าถ้าไปคุยกับคนรุ่นนี้ คำตอบประเภทว่า “ไม่เอาอ่ะ ขี้เกียจ” จะเป็นประโยคที่เราได้ยินบ่อยมาก

เอาอะไรมากครับ ขนาดป๋าเบิร์ด ธงไชย ของเรา เมื่อก่อนเคยร้องเพลง “สบายๆ ถูกใจก็คบกันไป” ตอนนี้ยังมาร้อง “ชิลล์ ชิลล์ ได้ไหม รู้ไหมว่าใจฉันปลิว”

สรุปว่าผมก็ยังคิดไม่ออกครับว่าทำไมคนรุ่นนี้ถึงนิยมชมชอบอาการทอดหุ่ยใจเย็น ใจปลิวๆ แบบนี้ 
เอาเป็นว่าอย่าคิดมากเลย เดี๋ยวจะเครียดไป ชิลล์ ชิลล์ดีกว่าครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น