วันศุกร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2555

โชคดีหรือฝีมือ?



     วันนี้ผมขอจะพูดถึงพ็อกเก็ตบุ๊กของคุณบัณฑิต อึ้งรังษี ที่ชื่อ "กฎแห่งความโชคดี" เป็นหนังสือที่ออกมานานแล้วนะครับ และผมก็เห็นมานานแล้วด้วย แต่ตอนแรกไม่ได้อ่าน และก็ไม่คิดจะอ่าน เพราะคิดว่าก็คงจะเหมือนหนังสือในแนวให้กำลังใจ พัฒนาตัวเองหรือ How to ทั่วๆ ไป แต่ที่ไหนได้ เล่นเอาถึงตายครับ ของเขาดีจริงๆ


        หลักใหญ่ใจความของหนังสือเล่มนี้กำลังจะบอกกับเราว่า คำว่า "โชค" นั้น บางทีอาจจะคือสิ่งที่เราต้องสร้างมันขึ้นมา 

        ใช่ครับ เราสามารถสร้างโชคดีขึ้นมาให้ตัวเองได้ คุณบัณฑิตนั้นถึงกับบอกว่า เขาเองไม่เชื่อเรื่องโชคดี ประเภทคนนั้นโชคดีถึงได้อย่างนั้นอย่างนี้ เพราะทุกสิ่งที่ทำให้เขากลายมาเป็นวาทยากรระดับโลกในวันนี้นั้น ผู้ชายคนนี้สร้างมันขึ้นมากับมือ เขาทั้งขวนขวาย ค้นคว้า ฝ่าฟัน และมีเป้าหมายที่ชัดเจน

ประโยคเด็ดที่ผมชอบที่สุดในเล่มนี้ก็คือ "คำว่าโชคดีเป็นเพียงแค่ข้ออ้างของคนขี้เกียจที่ไม่ยอมทำอะไร แล้วพอคนอื่นทำอะไรสำเร็จ ก็บอกว่าคนนั้นโชคดีจัง ฉันมันโชคไม่ดี ก็เลยทำไม่ได้"
จะว่าไปแล้วบรรยากาศรอบๆ ตัวเราก็ไม่ค่อยจะเอื้ออำนวยให้เราคิดแบบนั้นสักเท่าไหร่หรอกครับ ลองกวาดตาดูหน้าหนังสือพิมพ์สิครับ พ่อค้าส้มตำในตลาดโชคดีถูกล็อตเตอรี่รางวัลที่ 1 เพราะมีผู้หญิงมาเข้าฝัน ลูกจ้างร้านประดับยนต์ดวงเฮงถูกแจ็คพ็อตนับสิบล้านบาท 

เรื่องราวเข้าทำนองสามล้อถูกหวยนี้แบบมีมากมายแทบจะทุกวันที่ 1 และ 16 แล้วจะให้เอาบรรยากาศการไขว่คว้าหาความสำเร็จด้วยตัวตัวเองมาจากที่ไหนกัน เพราะเราต่างก็เฝ้าฝันว่าจะเป็นผู้โชคดีคนนั้นบ้าง หลายคนที่ผมรู้จักบ่นให้ฟังอยู่บ่อยๆ ว่าอยากจะได้นู่นนั่นนี่ แล้วก็ถอนหายใจออกมาว่า เฮ้อ! ทำไมไม่ถูกรางวัลที่ 1 เสียที

มีความจริงอย่างหนึ่งที่ผมค้นพบด้วยตัวเอง นั่นก็คือ “คนรวยมักจะขยันกว่าคนจน คนเก่งมักจะอ่านหนังสือมากกว่าคนไม่เก่ง” 

ถ้าคิดกันแบบผิวเผิน ก็อาจจะเห็นว่ามันแปลกตรงไหน ก็เขาขยันกว่าไง เขาถึงรวยกว่า ก็เขาอ่านหนังสือเยอะกว่าไง เขาถึงเก่งกว่า
แต่ลองคิดดูดีๆ นะครับ ในเมื่อรวยแล้ว ทำไมเขายังขยันอยู่? แล้วในเมื่อถ้าเรายังจนอยู่ ชีวิตยังไม่สบาย จริงๆ เราน่าจะต้องขยันกว่าคนรวยไม่ใช่เหรอครับ? คนเก่งก็เหมือนกัน เขาเก่งแล้ว ไม่ต้องอ่านหนังสือเยอะๆ แล้วก็ได้นะครับ แต่ทำไมเขายังอ่านยังคงศึกษาหาความรู้อยู่ ในขณะที่คนไม่เก่งกลับเที่ยวเล่น ไม่หาความรู้ใส่ตัว

เอาเข้าจริง ผมว่าประเด็นมันน่าจะอยู่ที่คนจนก็ไม่ได้อยากจะรวยจริงๆ คนไม่เก่งก็ไม่ได้อยากจะเก่งจริงๆ หรือไม่ก็คิดว่าคนอย่างเราคงไม่มีวันรวย ไม่มีวันเก่งอย่างเขาหรอก อยู่มันไปอย่างนี้ก็แล้วกัน ก็เลยปล่อยให้โชคชะตาพาชีวิตไป

ในหนังสือกฎแห่งความโชคดียังมีประโยคเด็ดอีกประโยคที่น่าสนใจและยังติดประทับอยู่ในใจผมจนทุกวันนี้ นั่นคือประโยคที่ว่า "ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เราหวังมากเกินไป แต่อยู่ที่เราพอใจกับสิ่งที่เรามีอยู่ง่ายเกินไป"

เขียนมาถึงตรงนี้ก็นึกถึงเรื่องของความพอเพียงแบบผิดๆ ที่หลายๆ คนเอาไปกล่าวอ้างเวลาที่เราทำไม่ได้ ไปไม่ถึง หรือไม่มีความพยายามมากพอ แล้วก็บอกว่าชีวิตพอเพียงแล้ว 

ไม่นานมานี้ผมเพิ่งไปได้ยินคำอธิบายเกี่ยวกับความพอเพียงได้เข้าท่ามากๆ เขาบอกไว้ว่า "ความพอเพียงหมายถึง การที่เรามีเงินพอที่จะซื้อรถหรูๆ จากยุโรป แต่ก็พอใจที่จะซื้อรถญี่ปุ่นคันเล็กๆ มาขับ ไม่ใช่หมายถึงการที่เราต้องขึ้นรถเมล์ เพราะไม่มีเงินซื้อรถ แล้วบอกว่าแค่นี้ชีวิตก็พอเพียงแล้ว ทั้งๆ ที่ความจริงเมียอาจจะท้องโย้ ต้องมาห้อยโหน เบียดเสียดกันเป็นปลากระป๋อง เพื่อกลับไปยังห้องเช่าที่ค้างค่าเช่าไว้สองเดือนแล้ว"

สำหรับผม คำอธิบายนี้โดนมากๆ อย่าเลยครับ อย่าปล่อยให้ชีวิตไหลไปตามโชคชะตา แล้วเอาแต่บอกตัวเองว่าคนเราไม่อาจฝืนลิขิตฟ้า อย่าปล่อยให้ชีวิตเป็นแบบนั้นเป็นอันขาดครับ 
เราออกแบบชีวิตตัวเองได้ ถ้าเราอยากออกมันแบบมากพอ

ดูอย่างเพลงของเจินเจินสิครับ เขายังบอกว่า “สามสิบ ลิขิตฟ้า เจ็ดสิบ ต้องฝ่าฟัน ต้องสู้ ต้องสู้จึงจะชนะ”

เป็นกำลังใจให้ทุกคนนะครับ สู้ๆ ในทุกสถานการณ์ที่กำลังจะมาถึง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น